ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์ใหม่ของเทศบาลตำบลดอยสะเก็ด
 ข้อมูลเทศบาล

นายพณานนท์ สุนตาอินทร์

นายกเทศมนตรีตำบลดอยสะเก็ด

msgQ&A สายตรงเทศบาล

นายอนุชา ชัยวงค์ - ปลัดเทศบาลตำบลดอยสะเก็ด<br>โทร. 082-181-3252

นายอนุชา ชัยวงค์

ปลัดเทศบาลตำบลดอยสะเก็ด
โทร. 082-181-3252



map locationข้อมูลในพื้นที่เขตเทศบาลตำบลดอยสะเก็ด

เลือกหมวดข้อมูล

วัดพระธาตุดอยสะเก็ด พระอารามหลวง

  • 17 พฤษภาคม 2565
  • อ่าน 8,030 ครั้ง

ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลเชิงดอย เป็นวัดตั้งอยู่บนเขาสูงประมาณ 500 เมตร มีป่าไม้ ตามธรรมชาติร่มรื่นตลอดปี สามารถชมทิวทัศน์ของอำเภอดอยสะเก็ดได้ มีภาพจิตกรรม ฝาผนัง พิพิธภัณฑ์ พระธาตุศักดิ์สิทธิ์ ฯ

ประวัติตำนานวัดพระธาตุดอยสะเก็ด
อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่

วัดพระธาตุดอยสะเก็ด   ตำบลเชิงดอย  อำเภอดอยสะเก็ด  จังหวัดเชียงใหม่  เป็นวัดที่เก่าแก่สร้างมาช้านาน ตั้งแต่ พ.ศ.๒๑๕๕ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์  ๒๔๖๑  เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๓ ได้รับยกย่องฐานะ ให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างที่มีผลงานดีเด่น ของกรมการศาสนา  กระทรวงศึกษาธิการ  ประวัติหรือตำนานตามที่บันทึกไว้ในประวัติ-ตำนานวัดดังนี้

ในสมัยพุทธกาล  เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทั้งหลายได้ตรัสรู้ธรรมอันวิเศษแล้ว  ได้นำเอาธรรมะออกเผยแผ่แก่ชาวชนบทน้อยใหญ่  ในชมพูทวีปจนได้มีผู้รู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรม เป็นจำนวนมาก ในกาลนั้นแล พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงปาฏิหาริย์มาปรากฏกายทิพย์  ณ  บนดอยแห่งนี้แล้วทรงเปล่งพระฉัพพรรณรังสีสว่างเจิดจ้าไปทั่ว  ขณะนั้นได้มีพญานาคคู่หนึ่งอาศัยอยู่ในหนองบัว (ห่างจากวัดพระธาตุดอยสะเก็ดประมาณ ๑ กิโลเมตรทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ)  ได้เห็นฉัพพรรณรังสีจึงแปลกใจพากันเลื้อยขึ้นสู่บนดอยแล้วได้ทัศนาเห็นพระพุทธองค์ บังเกิดความเลื่อมใส  จึงแปลงกายเป็นชายหนุ่มหญิงสาวมาเข้าเฝ้าพร้อมกับได้นำดอกบัวมาถวาย พระพุทธองค์ทรงรับเอาดอกบัวแล้วจึงทรงแสดงธรรมโปรด และประทานพระเกศาธาตุแก่พญานาคแปลงคู่นั้น  พญานาคจึงได้อธิษฐานสร้างเจดีย์หิน  แล้วนำเอาพระเกศาธาตุบรรจุประดิษฐานไว้บนดอยแห่งนี้  ต่อมาได้มีนายพรานผู้แสวงหาของป่าได้มาพบเห็นเจดีย์มีลักษณะสวยงาม  จึงเกิดอัศจรรย์ แล้วได้นำเอาก้อนหินมาก่อเป็นรูปเจดีย์ขึ้น  กลางคืนได้นิมิต(ฝัน)  ว่าเจดีย์ที่ตนพบนั้นเป็นที่บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า  จึงได้บอกกล่าวชักชวนประชาชนในแถบนั้น  ขึ้นไปสักการะบูชา  และเรียกชื่อภูเขาแห่งนี้ว่า  ?ดอยเส้นเกศ? บ้าง ?ดอยสะเก็ด? บ้าง  ที่เรียกว่าดอยเส้นเกศนั้น  เพราะเรียกตามพระเกศาธาตุ  ที่เรียกว่าดอยสะเก็ด  เพราะเรียกเพี้ยนสำเนียงตามที่พญานาคลอกคราบ  (ชาวเหนือเรียกสะเก็ด  หรือสละเกล็ด) คือ ถอดหรือลอกคราบนั้นเอง

ดอยแห่งนี้  ได้มีพุทธศาสนิกชนขึ้นมานมัสการเจดีย์หิน  อันเป็นที่บรรจุพระเกศาธาตุมากขึ้น  จึงได้ก่อเจดีย์ปูนเสริมให้ใหญ่  และมั่นคงกว่าเดิม  ต่อมาได้มีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อว่า  ?ครูบาเก๋?  จากอำเภอเมืองจังหวัดน่าน  มาสร้างวิหารและบูรณะเจดีย์พร้อมทั้งสถาปนาขึ้นเป็นวัด  เรียกว่า ?วัดพระธาตุดอยสะเก็ด?

ต่อมา ได้มีชาวบ้านเข้ามาอยู่อาศัยในเชิงดอย  และใกล้เคียงมากขึ้น   ทางราชการจึงได้จัดตั้งเป็นอำเภอ  โดยใช้ชื่อว่า  ?อำเภอดอยสะเก็ด?  ตามภาษาเรียกของชาวบ้านเป็นต้นมา

ในจุลศักราช  ๑๑๙๗  พ่อน้อยอินทจักร  ได้มาบูรณะวิหารหลังเกล่าอีก  เมื่อจุลศักราช ๑๒๗๔  ครูบาชัย วัดลวงเหนือ  (วัดศรีมุงเมืองปัจจุบัน)  ได้มาซ่อมแซมวิหารให้ดีกว่าเดิม  และเสริมองค์เจดีย์ให้ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม  และในจุลศักราช ๑๒๕๗  ตรงกับ พ.ศ.๒๔๔๘  พระอภิวงค์ หรือ ครูบากาวิชัย  พร้อมด้วยพ่อหนานอินทวงศ์  (พ่อขุนผดุงดอยแดน)  ได้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ในหมู่บ้านเชิงดอย (ตลาดอำเภอ)  เป็นครอบครัวแรก  ได้ร่วมกันอุปถัมภ์วัดพระธาตุดอยสะเก็ด  ตลอดมา

ปูชนียวัตถุของโบราณเก่าแก่ล้ำค่าของวัดพระธาตุดอยสะเก็ดมีมาก  อาทิเช่น มีเจดีย์ซึ่งเป็นที่บรรจุพระเกศาธาตุ อายุร่วม ๑,๐๐๐ ปี มีพระบรมสารีริกธาตุอันเป็นปูชนียวัตถุอันศักดิ์สิทธิ์  เป็นที่สักการะเคารพของชาวอำเภอดอยสะเก็ด  ทุกปีในเดือน ๘ เป็ง (ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ใต้)  ทางวัดจะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ  ลงมาจากที่ประดิษฐานให้พุทธศาสนิกชนสรงน้ำ  และจะมีปรากฎสิ่งอันเป็นปาฏิหาริย์ทุกครั้ง  นอกจากนั้น ยังมีพระพุทธรูปบูชาทองคำ  พระพุทธรูปทองสำริด  อีกจำนวนมาก  เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้สักการะบูชาสืบไป.


สถานที่ตั้งและภูมิลักษณะของวัดพระธาตุดอยสะเก็ด
วัดพระธาตุดอยสะเก็ดได้รับการตั้งเป็นวัด  เมื่อวันที่ ๖ มกราคม ๒๑๕๕  และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา  เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์  ๒๔๖๑  มีที่ดินเป็นที่ตั้งวัดเนื้อที่ ๑๓๒ ไร่ ๓ งาน ๘๖ ตารางวา  ตั้งอยู่ เลขที่ ๓๐๔  หมู่ ๓ ตำบลเชิงดอย  ใจกลางอำเภอดอยสะเก็ด  สถานที่เป็นภูเขาสูงประมาณ ๕๐๐ เมตร  ด้านทิศตะวันตก ติดกับตัวตลาดที่ว่าการอำเภอดอยสะเก็ด  ทางด้านตะวันออกติดกับเขาม่อนถ้ำและป่าไม้เบญจพรรณ  ทิศเหนือและทิศใต้  ติดกับบ้านหนองบัว  บ้านเขิงดอย  บริเวณวัดเป็นหินปนดิน  และเป็นป่าไม้ ที่ขึ้นตามธรรมชาติ  ภูมิลักษณะอากาศ   ฤดูร้อนไม่ร้อนจัด เพราะมีลมโชยจากทั้ง ๔ ทิศ  ฤดูหนาวไม่หนาวจัดนัก  ฤดูฝน  มีความร่มรื่นมาก  เพราะทางวัดได้อนุรักษ์ต้นไม้เพื่อให้เกิดความร่มเย็นตลอดปี


ความสำคัญของวัด
วัดพระธาตุดอยสะเก็ด  เป็นวัดประจำอำเภอ  และเป็นวัดพัฒนาตัวอย่างที่มีผลงานดีเด่น ของกรมการศาสนา  กระทรวงศึกษาธิการ  ประจำปี ๒๕๔๓  เป็นศูนย์รวมจิตใจของพระสงฆ์ ประชาชนอำเภอดอยสะเก็ด  จังหวัดเชียงใหม่  และพุทธศาสนิกชนทั่วสารทิศ ปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวน์


เจ้าอาวาสและจำนวนพระภิกษุ-สามเณร
เจ้าอาวาสชื่อ  พระโพธิรังษี  (พระมหาพายัพ ฐิตปุญฺโญ)  อายุ ๖๐ พรรษา  ๓๐  วิทย-ฐานะ  น.ธ.เอก, ป.ธ.๖, ศน.บ.(รัฐศาสตร์ฯ) และ ,ศศ.ม.(กิตติมศักดิ์) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งทางการปกครองคณะสงฆ์  เป็นเจ้าคณะอำเภอดอยสะเก็ด, เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสะเก็ด,       เจ้าสำนักศาสนศึกษาวัดพระธาตุดอยสะเก็ด  ผู้จัดการโรงเรียนดอยสะเก็ดผดุงศาสน์
บุคคลากรของวัดพระธาตุดอยสะเก็ด ในปี พ.ศ.๒๕๔๙  มีจำนวนดังนี้.
-  พระภิกษุ   จำนวน  ๒๓    รูป
-  สามเณร   จำนวน  ๔๗ รูป
-  ศิษย์และคนอาศัยวัด  จำนวน  ๑๒   คน
รวมทั้งหมด จำนวน   ๘๒    รูป/คน

วัดเป็นศูนย์รวมใจบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ในปัจจุบัน
๑. เป็นที่ตั้งมูลนิธิแห่งความเมตตาและเอื้ออารีย์  ซึ่งเป็นศูนย์ประสานงานช่วยเหลือผู้ติดเชื้อเอดส์ และ ผู้ได้รับผลกระทบจากเอดส์
๒. เป็นสำนักศาสนศึกษา  และ เป็นศูนย์การศึกษาพระปริยัติธรรมอำเภอดอยสะเก็ด  มีพระภิกษุ-สามเณรเข้ามาศึกษาเล่าเรียน  ทั้ง ๓ แผนก  คือ  แผนกนักธรรม, แผนกบาลี, พระปริยัติธรรมแผนกสามัญ
๓. เป็นศูนย์การศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์  เปิดสอน อบรมศีลธรรม  วัฒนธรรมพื้นบ้าน แก่เด็ก เยาวชน ในเขตอำเภอดอยสะเก็ด  และใกล้เคียง
๔. เป็นที่ตั้งศูนย์เด็กก่อนเกณฑ์ในวัดฯ  เพื่อช่วยเหลือผู้ปกครองที่มีรายได้น้อย  ให้สามารถไปทำงานได้
๕. เป็นสถานที่อบรมค่ายคุณธรรม  อบรมจริยธรรม แก่นักเรียนระดับประถมศึกษา, มัธยมศึกษา, และอุดมศึกษา  ตลอดจนถึงหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีความสนใจ ในแต่ละปี มีผู้เข้ารับการอบรมประมาณ ๕๖ รุ่น  ตลอดปีจะมีนักเรียนผ่านการอบรมจำนวน ๑๕,๐๐๐? ๒๐,๐๐๐ คน
๖. เป็นสถานที่ตั้ง ชมรมผู้สูงอายุอำเภอดอยสะเก็ด และกลุ่มหมอเมืองดอยสะเก็ด เพื่อเป็นสถานที่ทำกิจกรรมพบปะ ของผู้สูงอายุ และผลิตยาสมุนไพรจากภูมิปัญญา
๗. จัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และสวนสมุนไพรฯ
๘. จัดเป็นสถานแสดงพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน  และศูนย์การเรียนรู้ชุมชน
๙. เป็นวัดส่งเสริมสุขภาพของกรมส่งเสริมสุขภาพ  กระทรวงสาธารณสุข ปี ๒๕๔๗
๑๐. เป็นศูนย์เครือข่ายหมอเมือง (แพทย์แผนไทย)
๑๑. เป็นจุดกระจายเสียงวิทยุชุมชนฅนดอยสะเก็ด
๑๒. เป็นสำนักงานเจ้าคณะอำเภอดอยสะเก็ด
ปัจจุบันวัดพรธาตุดอยสะเก็ด  พระบรมราชองค์การ  ประกาศสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ  ตามที่วัดพระธาตุดอยสะเก็ด  ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ  ให้ยกฐานะเป็นพระอารามหลวง  ชั้นตรี  ชนิดสามัญ ตั้งแต่วันที่  29  พฤษภาคม  2555



แชร์หน้านี้: